ว่านไก่แดง ชื่ออื่น เอื้องหงอนไก่(Aeschynanthus andersonii)

ไก่แดง

Aeschynanthus andersonii

ชื่อไทย : ว่านไก่แดง ชื่ออื่น เอื้องหงอนไก่ , ไก่แดง
ชื่อพ้อง : Aeschynanthus hildebrandii Hemsl. Ex Hook. f. วงศ์ GESNERIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeschynanthus andersonii

พบที่พม่า จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบเขา ความสูง 1400-1900 เมตร คล้ายกับว่านไก่แดงชนิด A. persimilis Craib และว่านไก่แดงน้อย A. humilis Hemsl. ที่กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกด้านล่างไม่พับงอกลับชัดเจน แต่ทั้งสองชนิดต่างกันที่หลอดกลีบดอกด้านในช่วงโคนมีขนเหนียวหนาแน่นหรือไม่มีตามลำดับ

สกุล Aeschynanthus มีประมาณ 140 ชนิด พบในอเมริกาและเอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 20 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aischyno” น่าอาย และ “anthos” ดอก ตามลักษณะดอก

พืชอิงอาศัยหรือกาฝาก ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปหอก หรือรูปรี แผ่นใบหนาอวบน้ำ โคนใบแคบหรือมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ดอก ว่านไก่แดง ออกเป็นดอกเดี่ยว และออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด หรือที่ง่ามใบดอกของว่านไก่แดง มีลักษณะเป็นหลอดโค้ง โคนดอกเล็ก ส่วนปลายดอกแยกออกเป็นแฉก กลีบดอกเป็นสีแดงสด