กระทิง หรือ เมย เป็นวัวป่าชนิด Bos gaurus ในวงศ์ Bovidae

กระทิง , เมย

Gaur

ชื่อไทย : กระทิง , เมย
ชื่อชื่ออังกฤษ : Gaur
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos gaurus Smith

ลักษณะ : รูปร่างคล้ายวัว มีขนาดใหญ่ขนตามลำตัวมีสีดำ ขนบริเวณเหนือหน้าผากออกสีเทา หรือสีเหลืองโดยมีขนสัน้ำตาลอ่อนปกคลุมหน้าผาก เรียกว่า "หน้าโพ" ขาทั้งสี่ข้างตั้งแต่เหนือหัวเข่าไปจนถึงกีบเท้ามีสีขาว หรือสีเหลือง มองดูคล้ายสวมถุงเท้า เขาของกระทิงมีสีเหลืองมะกอก ปลายเขามีสีดำที่โคนเขามีรอยย่น ซึ่งรอยย่นนี้ จะพบมากขึ้นเมื่อกระทิงอายุเพิ่มขึ้น กระทิงตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ลูกกระทิงที่เกิดมาใหม่จะมีสีน้ำตาลแกมแดงเหมือนสีขน ของเก้งธรรมดา มีสีเส้นสีดำพาดผ่านกลางหลัง ลูกกระทิงตอนเล็กๆ จะไม่มีถุงเท้าเหมือนพ่อแม่ คนไทยในภาคอีสานจะเรียก กระทิง ว่า เมย

สถานภาพ : จาการสำรวจประชากรกระทิงในประเทศไทยในปี 2538 คาดว่ามีประมาณ 915 ตัว กระจายอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีมากที่สุดที่ห้วยขาแข้งประมาณ 500 ตัว ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีประมาณ 100 ตัว

การกระจายพันธุ์ : มีการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของจีน อินเดีย เนปาล ภูฐาน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม

กระทิงเป็นสัตว์สังคม มักอาสัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีสมาชิกตั้งแต่ 2-50 ตัว สมาชิกในฝูงประกอบด้วยตัวเมียและลูกเป็นส่วนใหญ่ ลูกกระทิงตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะถูกขับไล่จากฝูง ซึ่งเป็นขบวนการทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเอง ในหมู่เครือญาติแม่ เมื่อกระทิงมีอายุมากขึ้น มันอาจจะเข้าไปต่อสู้กับจ่าฝูงกระทิงอื่นๆ เพื่อเข้าครอบครองตัวเมียในฝูงนั้นๆ ซึ่งหากมันชนะก็จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียในฝูง แต่ถ้ามันแพ้มันก็กลายเป็นกระทิงโทนต่อไป กระทิงมักออกหากินในเวลาเย็นและกลางคืน (แต่กระทิงที่เขาแผงม้าจะออกหากินในตอนเช้าด้วย) โดยนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางวัน เมื่อถึงเวลาที่พักผ่อนมันจะสำรวจดูในระยะประมาณ 200-300 เมตร โดยเลือกบริเวณที่เงียบปราศจาคการรบกวนของศัตรู เช่น มนุษย์ และเสือโคร่ง ถ้าเป็นไปได้กระทิงมักจะเลือกนอนบริเวณที่มันสามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง เพื่อความปลอดภัย กระทิงบางตัวอาจจะนอนหลับในท่ายืน แต่บางตัวอาจนอนราบไปกับพื้นดิน