นกกางเขนดง หรือ นกบินหลาดง (อังกฤษ: White-rumped shama; ชื่อวิทยาศาสตร์: Copsychus malabaricus)

นกกางเขนดง

White-rumped shama

ชื่อไทย : นกกางเขนดง หรือ นกบินหลาดง
ชื่อชื่ออังกฤษ : White-rumped shama
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copsychus malabaricus

ลักษณะ : เป็นนกที่อยู่ในวงศ์ Muscicapidae มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนกกางเขนบ้าน แตกต่างกันที่นกกางเขนดงจะมีสีสันบริเวณท้องเป็นสีแดงอมน้ำตาลสดใส และมีสัดส่วนหางยาวกว่าปีกและลำตัวมาก มีเสียงร้องเพลงไพเราะ ชาวตะวันตกที่เข้าไปในอินเดียและพบนกชนิดนี้เข้าได้เรียกว่านกไนติงเกลแห่งอินเดีย

โดยทั่วไปของนกกางเขนดง จะมีปากหนา ตรง ส่วนปลายของปากบนงุ้มลงเล็กน้อย ความยาวของปากมากกว่าครึ่งของความยาวหัว มีขนแข็ง สั้น ที่มุมปาก มีปีกมนกลม ส่วนขนที่ปลายปีกจะมี 10 เส้น ขนบริเวณหางมี 12 เส้น ขนหางเป็นคู่ซึ่งแต่ละคู่จะยาวลดหลั่นกันไป ขาและนิ้วเท้าใหญ่ มีความแข็งแรง ทำให้สามารถกระโดดได้อย่างคล่องแคล่ว ท่อนล่างของขาเป็นเกล็ดขนาดใหญ่เหมือนปลอกปกคลุมขา ส่วนนิ้วเท้าจะยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว และยื่นไปข้าง หลัง 1 นิ้ว เหมาะแก่การเกาะกิ่งไม้และการกระโดด มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 28 ซม. โดยหางจะมีความยาวประมาณ15 - 19 ซม. ส่วนนกกางเขนบ้านมีหางยาวประมาณ 9 ซม.

สถานะ : ความเสี่ยงต่ำ (IUCN 3.1)

ตัวผู้: จะมีสีดำ เหลือบน้ำเงิน บริเวณ หัว คอ หน้าอก หลัง ไหล่ รวมทั้งขนคลุมปีก ตัดกับตะโพก ขนคลุมที่โคนหางเป็นสีขาวบริสุทธิ์ จนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ขนบริเวณกลางปีกมีสีดำด้านๆ ส่วนขนหาง 2 คู่ล่างสุดมีสีขาวปลอดทั้งเส้น ด้านล่างของลำตัวส่วนที่ถัดจากหน้าอกลงมา จนถึงท้องจนถึงขนคลุมใต้โคนหางมีสีน้ำตาลแกมแดง ลักษณะสีโดยรวมของสีคือมีสีตัดกันถึง 3 สี คือ สีดำ ขาว และ น้ำตาลแกมแดง มีม่านตาเป็นสีน้ำตาลเข้ม ปากสีดำสนิท ส่วนขา นิ้วเท้า และ เล็บ มีสีเนื้อจางๆ

ตัวเมีย: จะมีหางสั้นกว่าตัวผู้ ขนที่ หัว คอ หน้าอก หลัง เป็นสีเทาคล้ำ บริเวณกระหม่อม และ หลังไหล่ อาจมีเหลือบเป็นมันเล็กน้อย ขนที่กลางปีก ปลายปีก และขนหาง 2 คู่บน มีสีเทาคล้ำๆ ซึ่งจะมีขนหางอยู่ 2 คู่ ที่ถัดลงไปจะมีสีเทาคล้ำครึ่งโคนส่วนครึ่งปลายสีขาว ขนหาง 2 คู่ล่างสุด มีสีขาวปลอดทั้งเส้น สะโพกและขนคลุมบนโคนหางสีขาว ด้านล่างของลำตัวสีส้มอมน้ำตาล ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ขา นิ้วเท้า และ เล็บ มีสีเนื้อจางๆ เหมือตัวผู้