นกแก๊ก หรือ นกแกง (อังกฤษ: Oriental pied hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros albirostris)

นกแก๊ก หรือ นกแกง

Oriental pied hornbill

ชื่อไทย : นกแก๊ก หรือ นกแกง
ชื่อชื่ออังกฤษ : Oriental pied hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthracoceros albirostris

ลักษณะ : เป็นนกเงือกที่เล็กที่สุดในประเทศไทย บางแห่งชาวบ้าน จะเรียกว่า นกเงือกเล็ก นกตัวผู้ มีความยาวจากปลายปาก ถึงปลายหาง 89 เซนติเมตร แต่นกตัวเมีย มีขนาดตัวเล็กกว่า คือยาวเพียง 70 เซนติเมตร นกตัวผู้และนกตัวเมียสีสันคล้ายกัน แยกความแตกต่างได้จากคาง ใต้คอ หน้าอกส่วนบน และ ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หัวหลังคอ หลัง ตะโพก และขนคลุมบนโคนหางสีดำสนิท มีเหลือบเขียวเล็กน้อยดูเป็นมัน ปีกสีดำเหลือบเขียว ขนปลายปี ยกเว้น 2 เส้นนอกสุด และ ขนกลางปีกด้านนอก เส้นนอกๆ มีแต้มสีขาวกว้างๆ ตอนปลาย เวลานกกางปีกออก จึงเห็นชายปีก ของมันเป็นสีขาว ชัดเจน ขนหางคู่บนเป็นสีดำทั้งเส้น แต่ขนหางคู่อื่นๆ มีสีดำตอนโคนราว 2 ใน 3ส่วนของขนหางแต่ตอนปลายที่เหลือ เป็นสี ขาว ถ้ามองดูทางด้านล่าง จะเห็นเป็นโคนหางสีดำ ปลายหางสีขาว ยกเว้น นกแก๊กพันธุ์ใต้ (A.a. convexus) ซึ่งมีขนหางเส้นนอกสุด เป็นสีขาวทั้งเส้นหน้าอกส่วนล่าง ท้อง เรื่อยไปจนถึงขนคลุมใต้โคนหาง และ ขนคลุมขาท่อนบนเป็น สีขาว มีหนังเปลือยเปล่า รอบดวงตา และ ที่แก้มตอนล่าง เป็นสีฟ้าจางๆ แต่มักเห็นเป็นสีขาว ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ขา และ นิ้วเท้าสีดำ ปาก และคาสค์ สีขาวแบบสีงาช้าง แต่นกตัวผู้มีคาสค์ใหญ่กว่า มีแต้มสีดำที่คาสค์ และ ปากน้อยกว่า นกตัวเมียนอกจากนี้ นกตัวเมีย ยังมีแต้มสีน้ำตาลแกมแดงคล้ำๆ ถัดจากแต้มสีดำที่โคนปาก อีกด้วย

ถิ่นอาศัย : นกเงือกทุกชนิดเป็นนกประจำถิ่น แต่ก็มีการพบว่าพวกมันอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางใกล้ๆด้วยในบางฤดูกาล นกแก๊กเป็นนกเงือกที่พบได้บ่อยตามป่าดิบในระดับความสูงไม่เกิน 1,400 เมตรจากน้ำทะเล และป่าบนเกาะ ตั้งแต่อินเดีย ตอนใต้ของจีน ไปจนถึงอินโดนีเซีย ถึงมันจะมีขนาดเล็กสำหรับนกเงือกแต่ก็ตัวใหญ่กว่านกป่าทั่วไป เราสามารถได้ยินแม้แต่เสียงกระพือปีกของนกชนิดนี้หากมันบินผ่านในระยะที่ไม่ไกลมาก

การกระจายพันธุ์ : พบใน ประเทศบังกลาเทศ, ประเทศภูฏาน, ประเทศบรูไน, ประเทศกัมพูชา, ประเทศจีน, ประเทศอินเดีย, ประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศเนปาล, ประเทศสิงคโปร์, ประเทศไทย, และประเทศเวียดนาม มีถิ่นอาศัยในป่าดิบเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน

ปกติ นกแก๊ก ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ มันจะพากันบินออกไปหากินในตอนเช้า และกลับมานอนบนต้นไม้เดียวกันในตอนพลบค่ำเป็นประจำทุกวัน มันเคยเกาะนอนอยู่บนต้นไม้ไหน ก็บินกลับมานอนต้นไม้ต้นเดิมเสมอ เมื่อฟ้าสางแล้ว นกแก๊ก จะพากันบินออกจากต้นไม้ ที่มันเกาะหลับนอน เพื่อไปหากินมันจะทยอยกันบินออกไปทีละตัวสองตัวจนหมดแต่ละตัวจะบินอยู่ห่างๆกัน เมื่อเราเห็น ตัวหนึ่งบินผ่านไป เราก็มักจะเห็นอีกตัว หรือ สองตัว บินตาม ตัวหน้า ไปเสมอๆ เรามักจะเห็นมันบินข้าม ถนน ที่เรากำลังเดินอยู่ ไปทีละตัวสองตัว จนหมดทั้งฝูง โดยเราจะได้ยิน เสียงร้อง ของมัน ก่อนที่จะได้เห็น ตัวของมันเสมอ ในเวลาบิน ในบางครั้งก็เห็นมันบินจาก ยอดไม้ยอดหนึ่ง ไปยัง อีกยอดหนึ่ง ทีละตัว สองตัว จนหมดฝูงไม่ค่อยเห็นมันบินผ่านที่โล่งๆกว้างเท่าใดนักในเวลาบินจะเห็นเป็นนกสีดำหัวโตๆ ที่ใต้ท้องขาว และ ชายปีกขาว

ปกติ นกแก๊ก จะพากันบินออกไปหากิน ไกลจากต้นไม้ที่มันเกาะหลับนอนในตอนกลางคืนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามต้นไม้ที่มีผลไม้สุก และ โดยเหตุที่ ต้นไม้ต่างๆ จะมีผลสุกไม่พร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ นกแก๊ก จึงมีผลไม้สุก เป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี ผลไม้สุกที่มันชอบ มากก็คือ ผลไทร และ มะเดื่อ ซึ่งเป็นพืชในสกุล Ficus เมื่อถึงฤดูกาลที่มีผลไม้สุก เราจึงมักจะเห็น นกแก๊ก มารวมกันบนต้นไม้เหล่านั้นเป็นจำนวนมาก และ ในเวลาที่ นกแก๊ก พากันมากินผลไม้สุก นกชนิด อื่นๆ ที่กินผลไม้เช่น นกโพระดก นกเขียวคราม ก็จะพากันหลบไปหมด เพราะกลัว นกแก๊ก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และ ก้าวร้าวกว่า ผลไม้เหล่านี้มักจะอยู่ตรงปลายๆกิ่งของต้นไม้ แต่เนื่องจาก นกแก๊ก มีน้ำหนักตัวมาก มันจึงต้องค่อยๆ กระโดดไปยังปลายกิ่ง อย่างงุ่มง่าม ในขณะกระโดด มันจะหุบปีกแนบกับลำตัวไว้ กิ่งไม้ที่อ่อน มักยวบยาบไปตามแรงกระโดดของมันเสมอ แต่ปาก ของมันยาว จึงใช้ปลายปากปลิดผลไม้สุก เอามากินได้เสมอ เมื่อคาบผลไม้ได้แล้ว มันจะโยนขึ้นไปในอากาศ หน่อยหนึ่ง แล้งจึงใช้ปากงับ แล้วกลืนลงลำคอทันที เหตุที่มันต้องโยนผลไม้ขึ้นไปในอากาศก่อน เพราะลิ้นของมันสั้น ใช้ตวัดผลไม้ เข้าลำคอไม่ได้ ผลไม้ที่ถูกกลืนเข้าไปในกระเพาะทั้งลูกนั้น เฉพาะเนื้อรอบๆเมล็ด เท่านั้น ที่จะย่อยเป็นอาหารของมัน ส่วนเปลือก แข็งๆ และ เมล็ดจะถูกถ่ายออกมา พร้อมกับมูลของมัน