นกกก(นกกาฮัง, นกกะวะ หรือ นกอีฮาก)/Great Hornbill (Buceros bicornis)

นกกก หรือนกกาฮัง

Great hornbill

ชื่อไทย : นกกก, นกกะวะ หรือ นกกาฮัง
ชื่อชื่ออังกฤษ : Great hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Buceros bicornis

ลักษณะ : ตัวผู้และตัวเมียโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และต่างกันตรงที่ตัวผู้มีตาสีแดงทับทิม โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น เมื่อนกตายลงสีนี้จะหายไปด้วย ตอนเช้าและตอนเย็นชอบร้องเสียงดัง กก กก หรือ กาฮัง กาฮัง

อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า บริเวณต้นที่มีผลสุกชนิดที่ชอบ มันจะมากินทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหากินที่ต้นอื่น

กระจายพันธุ์ : สามารถพบได้ในป่าของอินเดีย, คาบสมุทรมลายู, สุมาตรา และอินโดนีเซีย

อาหาร : นกกกกินผลไม้ต่างๆ และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู โดยเอาหางจับฟาดกับกิ่งไม้ให้ตายก่อน แล้วเอาปากงับตลอดตัวให้เนื้อนิ่มกระดูกแตก แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากรับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วกลืนลงไป

ถิ่นอาศัย : มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดถึงพม่า ไทย และเกาะสุมาตรา สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา ชนิดย่อย homrai พบบริเวณภาคเหนือ ชนิดย่อย biconnis พบทางภาคใต้

วัยเจริญพันธุ์ : นกกกผสมพันธุ์ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน วางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วทำการตบแต่งโพรงก่อน ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมียของมัน