นกตีนเทียน / Black-winged Stilt (Himantopus himantopus)

นกตีนเทียน

Black-winged Stilt

ชื่อไทย : นกตีนเทียน
ชื่อชื่ออังกฤษ : Black-winged Stilt
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Himantopus himantopus

ลักษณะ : ปากยาวเรียวแหลมสีดำ ขายาวมากสีชมพูแกมแดง ตะโพกสีขาว หัว คอ อก และท้องสีขาว ตัวผู้ขนหลังและปีกเป็นสีดำเข้ม ส่วนตัวเมียจะมีสีน้ำตาลแกมดำ พบตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล เดินหากินตามชายฝั่งหรือแหล่งน้ำตื้นๆ

อาหารได้แก่ หนอนที่ฝังตัวอยู่ในดินและใต้น้ำ รวมทั้งสัตว์น้ำเล็กๆด้วย พบได้ง่ายในแหล่งน้ำเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามหาดเลนและนาเกลือใกล้ชายฝั่งทะเล นกบางส่วนทำรังวางไข่ในประเทศไทย ในฤดูหนาวมีนกอพยพจากประเทศทางเหนือเข้ามาสมทบ นกที่พบห่างไกลจากทะเล เช่น ตามภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ : ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ทำรังบนพื้นดินใกล้แหล่งน้ำ โดยการขุดให้เป็นหลุมเล็กๆ รองด้วยใบหญ้าแห้งแต่ไม่มากนัก ไข่มีสีพื้นเป็นสีเขียวเข้ม หรือสีน้ำตาล มีจุดหรือลายสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงในแต่ละรังมีไข่ 3-4 ฟอง ระยะเวลาฟัก 25-26 วัน

นกตีนเทียนสามารถใช้ปากที่เรียวยาวดั่งเข็มของมันทำหน้าที่เป็นตัวคีบจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหาร ขาที่ยาวของมันช่วยให้สามารถเดินหากินในน้ำได้ เช่นเดียวกับนกน้ำที่ทำรังบนพื้นดินอื่นๆ นกตีนเทียนมักทำรังอยู่ใกล้ๆกันเป็นกลุ่มเล็กๆ (semi-colonial) ในช่วงฤดูร้อนจนถึงต้นฤดูฝน รังมีลักษณะเป็นแอ่งตื้นๆบนพื้นดินแล้วปูด้วยเศษหญ้าเพื่อวางไข่ พ่อแม่นกมักจะทำรังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่ใช้หากินนั่นแหละครับ นกชนิดนี้มีพฤติกรรมน่าสนใจในการหลอกล่อสัตว์นักล่าที่เข้ามาใกล้รังให้ถอยออกไป โดยมันจะบินส่งเสียงร้อง และลงมาแกล้งทำท่า”ปีกหัก”บนพื้นในจุดที่ห่างออกไปจากรัง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจศัตรูให้ตามไป พฤติกรรมแกล้งบาดเจ็บแบบที่ว่านี้ยังพบได้ในเครือญาตินกชายเลนอีกหลายชนิดด้วย