เก้ง หรือ อีเก้ง หรือ ฟาน(อังกฤษ: Barking deer, Muntjac)

เก้ง หรือ อีเก้ง

Common muntjac

ชื่อไทย : เก้ง หรือ อีเก้ง
ชื่อชื่ออังกฤษ : Common muntjac
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus muntjak Zimmermann

ลักษณะ : เก้งมีลักษณะรูปร่างคล้ายกวาง แต่ตัวเล็กกว่า ขนลำตัวสั้น นุ่ม มีหลากหลายตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม บริเวณหลังสีเข้ม ใต้ท้องสีอ่อน สีขนจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่น ในช่วงฤดูร้อนสีขนจะซีดอ่อนกว่าในฤดูหนาว หน้าและขาสีน้ำตาล มีขนสีดำพาดยาวจรดเขาแต่ละข้าง ขนบริเวณขาสีขาว ขนตั้งแต่บริเวณหลังหูไปจนถึงสันคอมีสีดำเป็นแนวยาวเรื่อยลงมาถึงจมูก ใต้ตามีต่อมน้ำตาเป็นทางยาวทั้งในตัวผู้และตัวเมีย เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ๆ ยื่นออกมาจากหน้าผาก และมีเขี้ยวงอกยาวออกมาจากริมฝีปาก

การกระจายพันธุ์ : ไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม

สถานภาพ : IUCN (1996) : LR/nt , CITES (1995) : Appendix II

เก้งสามารถปรับตัวให้อาศัยในป่าที่หลากหลาย เช่นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา เก้งมักอาศัยอยู่อย่างโดดเดียว ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์ หรือมีลูกอ่อนที่จะอยู่ด้วยกันเป็นคู่ปกติออกหากินในเวลากลางวัน เวลากินอาหารมักจะรีบกัดและกลืนอาหารเข้าไปด้วยความรวดเร็ว เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาหารที่กลืนเข้าไปจะถูกเก็บไว้ในกระเพาะพัก เมื่ออยู่บริเวณที่ปลอดภัย เก้งจะขยอกอาหารออกมาเคี้ยวให้ละเอียด เหลือส่วนที่เคี้ยวไม่ได้จะคายส่วนนั้นออกมาทิ้งไว้ตามพื้นดิน เวลาตกใจจะร้อง เอิ้บ เอิ้บ แล้ววิ่งหนีไป ใช้จมูกเป็นประสาทสัมผัสหลัก เก้งผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยส่วนใหญ่จะผสมในช่วงเดือนกันยา ถึงพฤษภาคม ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 6 เดือน ลูกเก้งจะถูกทิ้งไว้ในป่ารกเวลาที่แม่ไปหาอาหาร ในฤดูผสมพันธุ์ เก้งตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย้งตัวเมีย ผสมพันธุ์แล้วจะพลัดขนทิ้ง